อริยสัจทั้งสี่

มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคาม เอาแล้ว ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ : นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย, นั่นไม่ใช่ที่พึ่ง อันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้น ไปจากทุกข์ทั้งปวงได้.
ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, เห็นความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์, และเห็นมรรคประกอบ ด้วยองค์แปดอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไป สงบรำงับแห่งทุกข์ : นั่นแหละคือ ที่พึ่งอันเกษม, นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น ไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้.
ธ. ขุ. ๒๕/๔๐/๒๔.

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนี้ ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้กับ มหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดิน ที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้นเมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่ง กะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”.
ภิกษุทั้งหลาย ! อปุมานี้ฉันใด อปุไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมา เป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่ สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :-
  • อริยสัจคือทุกข์
  • อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
  • อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
  • อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์.
  • ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอ พึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
  • “ทุกข์ เป็นอย่างนี้
  • เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้
  • ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้
  • ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.
  • มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.
    โยคกรรม คือ การกระทำอย่างเป็นระบบ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
    แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์,
    แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์,
    แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์,
    แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์,
    การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์,
    ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์,
    ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ :
    กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานักขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.
    ติก. อํ. ๒๐/๒๒๒-๒๒๘/๕๐๑. คลิก...เปิดธรรม ก้าวย่างอย่างพุทธะ
    ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
    เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย;
    เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;
    เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จีงมีนามรูป;
    เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
    เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;
    เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
    เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;
    เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;
    เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;
    เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;
    เพราะมีชาติเป็นปัจจัย,
    ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
    ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า?
    เพราะความจางคลายดับไปโดย ไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร;
    เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ;
    เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;
    เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;
    เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ;
    เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
    เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;
    เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน;
    เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;
    เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ;
    เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น :
    ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
    มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ นั่นเอง
    กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ; สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ; สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
    ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจ ทั้งหลาย ๔ ประการ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้ ดังนี้ อันใด อันเรากล่าวแล้ว; ข้อนั้น เรากล่าว หมายถึงข้อความนี้, ดังนี้ แล.
    ติก. อํ. ๒๐/๒๒๒-๒๒๘/๕๐๑.
  • คลิก...เปิดธรรม ก้าวย่างอย่างพุทธะ
  • ดาวน์โหลด.. อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น
  • ดาวน์โหลด.. อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคปลาย
  • ทุกขอริยสัจ

    “...ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอจงแสดงธรรม ให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุด, จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...” ..- บาลี มหาวรรค วิ. ๔/๓๙/๓๒. ตรัสแก่พระอรหันต์ ๖๐ รูป ชุดแรกที่อิสิปตนมิคทายวัน.