เรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ทรงแสดงเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เกี่ยวกับพระองค์เอง

ภิกษุทั้งหลาย ! สมมติว่ามหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด; บุรุษคนหนึ่งทิ้งแอก (ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น; ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตก พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก, ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไป ทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้.
“ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่งตาบอด ล่วงไปร้อยๆ ปี มันจะผุด ขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ.”
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญ ความข้อนี้ว่าอย่างไร : จะเป็นไปได้ไหมที่เต่าตาบอด ร้อยปี จึงจะผุดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอ เข้าไปในรู ซึ่งมี อยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?
“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียง รูเดียวในแอกนั้น”.
ภิกษุทั้งหลาย ! ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์; ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลก; ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว จะรุ่งเรืองไปทั่วโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่าบัดนี้ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว; ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว; และ ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำโยคกรรมเพื่อให้รู้ว่า
    “นี้ ทุกข์,
    “นี้ เหตุให้เกิดทุกข์,
    “นี้ ความดับแห่งทุกข์,
    “นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด
“มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔.


คลิกฟัง...ธรรมบรรยาย ยามเช้าพร้อมคำอธิบาย..

ผู้แบกของหนัก

ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงของหนัก ผู้แบกของหนัก และการแบกของหนัก แก่พวกเธอ, เธอทั้งหลายจงฟัง ข้อความนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าของหนัก ?
ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานักขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก. อุปาทานักขันธ์ทั้งห้า เหล่าไหนเล่า ? คือ :-

    ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ รูป,
    ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ เวทนา,
    ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สัญญา,
    ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สังขาร,
    และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ วิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ของหนัก.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าผู้แบกของหนัก ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล (ตามสมมติ) นั้นแหละ เรา เรียกว่าผู้แบกของหนักเขามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนั้น ตามที่รู้กันอยู่.

    ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ผู้แบกของหนัก.
    ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าการแบกของหนัก ?
    ภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหาอันใดที่ทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลิน ซึ่งมีปกติทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาใน ความไม่มีไม่เป็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า การแบกของหนัก.
ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๒/๔๙-๕๑.

(คำชี้ชวน ! คำของพระพุทธเจ้า เป็นข้อความลึก ชั้นโลกุตร ควรอ่านช้าๆ และหลายๆเที่ยว เพื่อความเข้าใจ ) อ่านเพิ่มเติม ...ตามรอยธรรม
ตามรอยธรรม

พุทธวจน
วาเสฏฐะ !
พวกเธอแล มีชาติต่างกัน มีนามต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีสกุลต่างกัน ออกบวชจากเรือนเป็นผู้ไม่หวังเกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว เมื่อถูกเขาถามว่า “พวกท่านเป็นใคร ?” ดังนี้ พวกเธอก็ปฏิญาณว่า
    “เราทั้งหลาย เป็นสมณสากยปุตติยะ”ดังนี้. อนึ่ง ศรัทธาของผู้ใดแลตั้งมั่น ในตถาคต ฝังลงรากแล้ว ดำรงอยู่ได้มั่นคง อันสมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกก็ตาม ไม่ชักนำไปทางอื่นได้ ผู้นั้นควรที่จะกล่าวอย่างนี้ว่า “เราเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดโดยธรรม เนรมิตโดยธรรม เป็นทายาทโดยธรรม” ดังนี้.
-บาลี ปา. ที. ๑๑/๙๑/๕๕.
-https://pursuing-fair.blogspot.com
พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา” “หันทะ ทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว ” ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า “วะยะธัมมา สังขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา “อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ”เธอทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด...” ดังนี้. นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า.(ปัจฉิมวาจา) - มหา. ที. ๑๐/๑๘๐/๑๔๓.. คลิกอ่าน...ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์