ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

ให้พึ่งตน พึ่งธรรม

อานนท์ !
เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือ ว่าความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี;
อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัย ปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา, สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”.
    อานนท์ !
    เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มี แก่นเหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำกว่าส่วนอื่น ส่วนนั้นพึง ย่อยยับไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด;
อานนท์ !
เมื่อภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่มีธรรมเป็นแก่นสารเหลืออยู่, สารีบุตร ปรินิพพานไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน. อานนท์ ! ข้อนั้น
    จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัย ปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.
"อานนท์ !
เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ."
อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็น สรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ, มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ !
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่,
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนืองๆ อยู่,
พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่,
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนืองๆ อยู่; มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
อานนท์ !
ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่ามีตนเป็น ประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรม เป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ !
ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา, ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด.
มหาวาร .สํ. ๑๙/๒๑๖-๒๑๗/๗๓๗-๗๔๐.
ตรัสแก่ท่านพระอานนท์ ผู้เศร้าสลดในข่าวการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร ซึ่งจุนทสามเณรนำมาบอกเล่า ที่พระอารามเชตวันใกล้นครสาวัตถี.
วักกลิ !
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม.
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๔๖/๒๑๖.
อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี
ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา.
-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑.
อานนท์!
พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ อย่าเอาสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย
จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย.

-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๑๗/๗๔๐.
มนุษย์เป็นอันมาก ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ
มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคาม เอาแล้ว ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ : นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย, นั่นไม่ใช่ที่พึ่ง อันสูงสุด;
ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้น ไปจากทุกข์ทั้งปวงได้.
ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นที่พึ่งแล้ว เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, เห็นความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์,
และเห็นมรรคประกอบ ด้วยองค์แปดอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไป สงบรำงับแห่งทุกข์ : นั่นแหละคือ ที่พึ่งอันเกษม, นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น ไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้.
ธ. ขุ. ๒๕/๔๐/๒๔.

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อ นี้ ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้กับ มหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดิน ที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย.
ฝุ่นนั้นเมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่ง กะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”.
ภิกษุทั้งหลาย ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น: สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมา เป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่ สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่.

อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :-
  • อริยสัจ คือ ทุกข์
  • อริยสัจ คือ เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
  • อริยสัจ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
  • อริยสัจ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอ พึงประกอบโยคกรรม1 อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
  • “ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
  • เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
  • ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
  • ทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.

  • มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.
    ( 1. โยคกรรม คือ การกระทำอย่างเป็นระบบ.)
    (คำชี้ชวน ! คำของพระพุทธเจ้า เป็นข้อความลึก ชั้นโลกุตร ควรอ่านช้าๆ และหลายๆเที่ยว เพื่อความเข้าใจ )

    ฟัง... ก้าวย่างอย่างพุทธะ การแสดงธรรมงดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง และในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะ ( ความหมาย) พร้อมทั้งพยัญชนะ ( คำที่พูด) ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.
    คลิกเพื่อดาวน์โหลด ...พุทธวจน: สื่อหนังสือธรรมจากพระโอษฐ์
    พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา” ภิกษุ ทั้งหลาย. ! บัดนี้ ตถาคต ขอเตือนพวกเธอทั้งหลายไว้ ว่า : “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงทำ ความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม เถิด” ดังนี้. นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า. คลิกอ่าน...ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์