ทาน (การให้)

ทาน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยมีความหวังผล ให้ ทานโดยมีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยคิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้” เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็น อย่างนี้...

ทาน (การให้)

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทาน เหมือนอย่างเรารู้ไซร้ หากสัตว์เหล่านั้น ยังไม่ได้ให้ทานเสียก่อนก็จะไม่พึง บริโภค อนึ่ง มลทินคือความตระหนี่จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น
แม้คำข้าวคือก้อนข้าวของสัตว์เหล่านั้น จะพึงเหลืออยู่คำสุดท้ายก็ตาม ถ้าปฏิคาหกของพวกเขายังมีอยู่ หากสัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้แบ่งคำข้าวคำสุดท้ายแม้นั้น ก็จะไม่บริโภค.
ภิกษุทั้งหลาย ! แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผลแห่งการจำแนกทาน เหมือนอย่างเรารู้ ฉะนั้นสัตว์เหล่านั้นจึงไม่ได้ให้ทานก่อนบริโภค อนึ่ง มลทิน คือความตระหนี่ จึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น.
-บาลี -ขุ. ขุ. ๒๕/๒๔๓/๒o๖

ความหมายของทาน

ทาน (การให้) เป็นอย่างไร
    มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีป โคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ- โลกสวรรค์
เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทาน ไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็น มนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก.
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.

จาคะ (การบริจาค) เป็นอย่างไร

คหบดี ! ก็จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) เป็นอย่างไร
    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทินคือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็น ประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

ทำไมจึงให้ทาน

ผลแห่งทานในปัจจุบัน และสัมปรายะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันหรือหนอ.
สามารถ สีหะ !
สีหะ ! ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจ ของชนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.
อีกประการหนึ่ง สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาทายก ผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.
    อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็น ทานบดีย่อมขจร แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.
    อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ ประชุมใดๆ คือที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขินเข้าไป แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่ง ทานที่จะพึงเห็นเอง.
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะ พึงได้ในสัมปรายะ.
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๑/๓๔.

อานิสงส์แห่งการให้ทาน

นี้มีอยู่ ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
  • (1) ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก
  • (2) สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
  • (3) กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
  • (4) ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
  • (5) ผู้ให้ทานเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ.
    ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่า ดำ เนินตามธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษ เหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพาน ในโลกนี้.
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๓/๓๕
ธรรมบรรยาย ให้ทาน..
ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ ... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อม ให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำและปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจ ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้ว นั้นย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้วไม่คิดเอาคืน ผู้นั้น เป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่าพระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ ของที่พอใจ ดังนี้.
    ... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของ ที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้.
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๓/๔๔.
พุทธวจน - หมวดธรรม เปิดธรรมที่ถูกปิด : ทาน (การให้)
ฟังเสียงอ่าน ผลแห่งทาน
พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา” “หันทะ ทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว ” ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า “วะยะธัมมา สังขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา “อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ”เธอทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด...” ดังนี้. นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า.(ปัจฉิมวาจา) - มหา. ที. ๑๐/๑๘๐/๑๔๓.. คลิกอ่าน...ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์