กรรม

“กรรม”

ราหุล ! กระจกเงามีไว้สำหรับทำอะไร ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! กระจกเงามีไว้สำ หรับส่องดู พระเจ้าข้า !”.
ราหุล ! กรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่บุคคลควรสอดส่อง พิจารณาดูแล้วดูเล่าเสียก่อน จึงทำลงไป ทางกาย, ทางวาจา หรือ ทางใจ
ฉันเดียวกับกระจกเงานั้นเหมือนกัน”.
-บาลี ม. ม. ๑๓/๑๒๕/๑๒๘
ภิกษุทั้งหลาย !
กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ....
คำที่เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าวซึ่ง เจตนาว่าเป็น กรรม
เพราะว่าบุคคล เจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ.
ภิกษุทั้งหลาย !
นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ.
ภิกษุทั้งหลาย !
เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !
กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนา ในนรก มีอยู่,
กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่
กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่,
กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษย์โลก มีอยู่,
กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย !
เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ
วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน)
หรือว่า วิบากในอุปปัชชะ (คือในเวลาต่อมา)
หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก).
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย !
กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรมทั้งหลาย ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปท า (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) นี้นั่นเอง คือ กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา; ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-
สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ)
สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ)
สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ)
สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ)
สัมมาสติ (ความระลึกชอบ)
สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ).

คลิกฟัง...ธรรมบรรยาย ยามเช้าพร้อมคำอธิบาย..
ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อใดอริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่ง กรรม อย่างนี้,
รู้ชัดซึ่ง นิทานสัมภวะแห่งกรรม อย่างนี้,
รู้ชัดซึ่ง เวมัตตตาแห่งกรรม อย่างนี้,
รู้ชัดซึ่ง วิบากแห่งกรรม อย่างนี้,
รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธ อย่างนี้,
รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้;
อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้ว่า เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งกรรม.
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า
กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ,
กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ”
ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.
ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘,๔๖๓-๔๖๔/๓๓๔.
(คำชี้ชวน ! คำของพระพุทธเจ้า เป็นข้อความลึก ชั้นโลกุตร ควรอ่านช้าๆ และหลายๆเที่ยว เพื่อความเข้าใจ )
คลิกอ่าน...แก้กรรม โดย ตถาคต
ดาวน์โหลดหนังสือ พุทธวจน (คลิกเพื่อดาวน์โหลด เชฟเพื่ออ่าน ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )
เสียงอ่านหนังสือพุทธวจน ๕ ฉบับ แก้กรรม
สิ้นตัณหา ก็ สิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย !
มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อม เป็น ไปเพื่อ ความสิ้นตัณหา เธอทั้ง หลายจงเจริญ มรรคานั้น ปฏิปทานั้น.
มรรคาและปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหา เป็นอย่างไรเล่า ? คือ โพชฌงค์ ๗
    โพชฌงค์ ๗ เป็นอย่างไรเล่า ?
    คือ สติสัมโพชฌงค์
    ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
    วิริยสัมโพชฌงค์
    ปีติสัมโพชฌงค์
    ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
    สมาธิสัมโพชฌงค์
    อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระอุทายี ได้ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหา”.
    อุทายี !
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัย นิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ (ความสละ, ความปล่อย) อันไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีความพยาบาท เมื่อภิกษุนั้นเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ อันไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีความพยาบาท ย่อมละ ตัณหาได้ ...ฯลฯ...
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ อันไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีความพยาบาท เมื่อภิกษุนั้นเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ อันไพบูลย์ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีความพยาบาท ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึงละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้.
    "อุทายี ! เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้ แล."
มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๒๓/๔๔๙.
พินัยกรรม ของ “พระสังฆบิดา” ภิกษุ ทั้งหลาย. ! บัดนี้ ตถาคต ขอเตือนพวกเธอทั้งหลายไว้ ว่า : “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงทำ ความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม เถิด” ดังนี้. นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า. คลิกอ่าน...ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์